logo Yushi
YUSHI

แนวความคิดในการทำเกษตรกรรมสมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยี

" ปัญหาของเกษตรกรไทยก็คือ ภาคการเกษตรกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และสินค้าทางการเกษตรมีมูลค่าตกต่ำ ที่ผ่านมาประเทศไทยเน้นการส่งออกเป็นหลัก แต่ไม่ได้เน้นการพัฒนามูลค่าเพิ่มของสินค้าทางการเกษตรอย่างจริงจัง "

เกษตรกรไทยไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ เป็นหนี้เป็นสิน ลำบากตรากตรำ และไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น มีแต่จะแย่ลงอีกในอนาคต จนบางครั้งเราก็รู้สึก " ชิน " ไปโดยปริยาย สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ประเทศของเราต้องเผชิญมาตลอดระยะเวลายาวนาน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วภาคอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศไทย มีขนาดใหญ่มากในภูมิภาค มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมากมาย เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

แต่ … แปลกที่ประเทศไทย ไม่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ และกำลังสำคัญของเราได้อย่างจริงจังและยั่งยืน ต่างจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีวิธีคิดแบบ Agi – Business ซึ่งเป็นแนวคิดอุตสาหกรรมขั้นที่ 6 (SixthOrder Industry) ที่ทำให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จและสามารถพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรของตนเองได้อย่างน่าทึ่ง นั่นเป็นสิ่งที่จุดประกายให้กลุ่มบริษัทยูชิ กระโดดจากธุรกิจการขายสินค้าและบริการในภาคอุตสาหกรรม เริ่มเข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์และแปรรูปในภาคสินค้าการเกษตรอย่างเต็มตัวเมื่อปี 2016 เพื่อแผนในการยกระดับสินค้าการเกษตรและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย

" ผลไม้สด " เป็นสินค้าที่คนไทย ทุกเพศ ทุกวัย ต่างก็คุ้นเคยกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว แถมเป็นสินค้าที่มีวัตถุดิบมากมายอยู่ในตลาดการเกษตร " เราจะมีวิธีอย่างไรให้ผลไม้ของคนไทย มีมูลค่าที่สูงขึ้น " นั่นเป็นบทสนทนาที่เกิดขึ้นในห้องประชุมผู้บริหารและประธานกรรมการบริษัท

แผนธุรกิจของเราได้เชื่อมโยงธุรกิจในภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมที่เรามีความชำนาญอยู่แล้วในส่วนของโรงงาน และความชำนาญในด้านของการตลาดสมัยใหม่ ผนวกเข้าไว้ด้วยกัน โดยการวางโครงร่างทางธุรกิจก่อนเริ่มการดำเนินงาน หรือที่เรียกว่า " Business Plan & Model Canvas " โดยยูชิ ได้เลือกวัตถุดิบหลักหนึ่งตัวในการเริ่มดำเนินธุรกิจ เพื่อเน้นแปรรูป และเพิ่มมูลค่าสินค้าก่อนนำไปสู่ตลาด (Value Add Up)

และสิ่งที่เราเลือกนั่นคือ " ผลส้ม " นั่นเอง เหตุผลก็เพราะว่า "ส้ม” เป็นผลไม้ที่เหมาะกับการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าได้ดี อีกทั้งเราดำเนินธุรกิจผ่านระบบการวางแบบแผนของญี่ปุ่น ซึ่งมีรูปแบบชัดเจน ใช้หลักสถิติในการวางแผนธุรกิจ รวมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบกัน โดยจากสถิติปี 2560 มีพื้นที่ปลูกส้มในประเทศไทยมากกว่า 99,000 ไร่ โดยพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือของประเทศ ซึ่งไม่น้อย !!!

โดยสาเหตุที่ทำให้เกษตรกรไทยเลือกปลูกส้มกันเป็นจำนวนมาก ก็เพราะส้มเป็นผลไม้ที่สามารถทำกำไรได้สูงเมื่อเทียบกับพืชผลทางการเกษตรชนิดอื่น และมีอายุของต้นส้มเฉลี่ย สูงถึง 20 ปี ทำให้การขยายตัวในการเพาะปลูกส้มเพิ่มมากขึ้นในทุกปี และนั่นเป็นสัญญาณและสิ่งที่บ่งชี้ได้เลยว่า ภาพรวมในอนาคตของผลไม้ชนิดนี้อยู่ในเกณฑ์น่าเป็นห่วงอย่างแน่นอน เพราะพฤติกรรมของเกษตรไทยจะเน้นการเพาะปลูกตามกันเมื่อผลผลิตมีราคาสูง และจะทำให้เกิดสภาวะผลผลิตล้นตลาดในที่สุด เป็นวัฏจักรแบบนี้มาโดยตลอด (Over supply)

และก็ไม่ผิดจากหลักสถิติที่คาดการณ์ไว้ ในปี 2561 ราคาของส้มเฉลี่ย กก.ละ 20 บาท ในขณะที่ต้นทุนการปลูกอยู่ที่ กก.ละ 10 บาท (ผลผลิตต้นฤดู) ซึ่งหากผลผลิตทะลักออกมาทั้งหมดเกษตรกรจะเสี่ยงขาดทุนเป็นอย่างสูงแน่นอน และถ้าเกษตรกรรายใดปรับตัวไม่ได้ก็จะเกิดปัญหา ขาดทุน หนี้สิน และอื่น ๆ ตามมา ส่วนเกษตรกรที่มีสายป่านยาวและบริหารจัดการดี ก็อาจจะพ้นวิกฤตไปได้ แต่สถานการณ์ของผลไม้ชนิดนี้จะยังคงเป็นแบบนี้ไปถึงปี 2565 เป็นอย่างน้อย

เพราะเหตุนั้นเองจึงทำให้กลุ่มบริษัทยูชิ  เลือกที่จะนำผลส้มมาแปรรูป ในรูปแบบของโรงงานผลิต โดยเน้นกระบวนการคิดตั้งแต่ " ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ " แบบครบวงจรในการบริหารและดำเนินงาน และได้ทำการผลิตและแปรรูปน้ำส้มสดแท้ 100% โดยผ่านชื่อแบรนด์สินค้า " Shinsen by Yushi "

และด้วยแนวคิดแบบ Agri-Business ซึ่งจะเน้นการเชื่อมโยงกันในการสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ครบวงจรทั้งทางด้านการผลิต แปรรูป และบริการ ตามด้วยการเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง รวมไปถึงการเชื่อมต่อระหว่างเครือข่ายผู้ผลิตทางการเกษตร จนนำไปสู่การเกิดธุรกิจการเกษตรที่หลากหลาย

ขั้นแรก เราได้เริ่มรวบรวมผู้มีความสามารถทางด้านการเกษตร นักวิจัยและผลงานวิจัยต่าง ๆ เข้ามาเพื่อวิเคราะห์และทำการแปรรูปผลส้ม โดยได้รับคำปรึกษาและความร่วมมือจากศาสตราจารย์ และคณะวิชาเกษตรอุตสาหกรรม ม.เกษตรศาสตร์ (บางเขน) สำหรับการควบคุมคุณภาพของต้นน้ำ (เกษตรกรและแหล่งปลูก) และการคัดเลือกสายพันธุ์ของส้ม โดยองค์ความรู้ที่ได้คือ
"จริงแล้วส้มเขียวหวาน มีปลูกอยู่ทั่วไปทั่วทุกภูมิภาคของไทย แต่มีการเรียกชื่อแตกต่างกันออกไปในแต่ละท้องถิ่น เมื่อปลูกส้มในระดับอุณหภูมิที่ต่างกัน ในแต่ละพื้นที่ ผลส้มที่ได้ก็จะสร้างสีที่ต่างกัน เนื่องจากอุณหภูมิที่ต่างกันในเวลากลางวันและกลางคืน สังเกตส้มเขียวหวานที่ปลูกในพื้นที่ภาคเหนือจะมีสีผิวเข้มกว่าส้มที่ปลูกทางตอนใต้ จึงทำให้มีชื่อเรียกที่ต่างกัน ไปในแต่ละท้องถิ่นและมีรสชาติที่แตกต่างกันเนื่องจากดินอีกด้วย "

กลุ่มยูชิ ได้นำนักวิชาการทางด้านการเกษตรและดิน เข้าไปให้คำแนะนำกับเกษตรกรในด้านการเพาะปลูกและทำสัญญากับเกษตรกรโดยตรงโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ด้วยการทำ Contract Farming เพื่อให้ผลผลิตของส้ม  เป็นไปตามมาตรฐาน และสามารถป้อนผลไม้ส่งโรงงานได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ทำให้เกษตรกรถูกกดราคาจากนายหน้าหรือพ่อค้าคนกลาง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่ลดลง ถูกเอาเปรียบ พร้อมกันนั้นนักวิชาการด้านการเกษตรยังแนะนำ และให้คำปรึกษากับกลุ่มเกษตรกรโดยตรง ถึงเทคนิคต่าง ๆ ที่ทำให้การผลิตผลผลิตสมบูรณ์ขึ้นด้วยหลักวิชาการ
อาทิ การแนะนำเทคนิคของช่วงเวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิต ผลผลิตที่อร่อยที่สุดจะอยู่ในช่วงเดือนธันวาคม เพราะส้มมีการเจริญเติบโตเต็มที่หลังจากผ่านหน้าฝน และช่วงฤดูหนาว เป็นระยะที่ต้นไม้พักตัว จะไม่มีการแตกใบอ่อนหรือแตกราก อาหารที่ปรุงได้ทั้งหมดก็จะถูกเก็บสะสมในผลส้ม ทำให้ผลส้มในรุ่นปลายหนาวนี้มีรสชาติอร่อยที่สุด รวมทั้งการลดการใช้สารเคมีโดยหันมาใช้เกษตรอินทรีย์ให้มากขึ้นเพื่อลดต้นทุน
หากเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลส้มในช่วงเวลาดังกล่าวส่งโรงงาน ก็จะมีผลกำไรที่มากที่สุดด้วยเช่นกัน หรือแม้แต่ปัจจัยเรื่อง  " ดิน ” ก็มีส่วนสำคัญที่นักวิชาการ แนะนำแก่เกษตรกร เพื่อปรับปรุงคุณภาพของดินด้วยเทคนิคต่าง ๆ เช่น สัดส่วนการเติมปูนขาว วิธีการตากดิน เทคนิคการรดน้ำ ฯลฯ จนดินมีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการเติบโตของต้นส้มและให้ผลผลิตที่ดี นั่นเป็นสิ่งที่กลุ่มบริษัทยูชิร่วมกับนักวิชาการทางการเกษตรเข้าไปช่วยในเรื่องของการให้ความรู้ในการทำธุรกิจตั้งแต่ " ต้นน้ำ "

อันเป็นรากฐานและบันไดขั้นแรกของการทำธุรกิจในแบบฉบับของ " Yushi "

เมื่อได้วัตถุดิบต้นน้ำแล้วก็มาถึงขั้นตอนของ " กลางน้ำ " หรือการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า (Value Add) ฝ่ายบริหารและที่ปรึกษาลงมติร่วมกันว่า จะทำการผลิต "น้ำส้มสดแท้ 100%” และต้องเป็นน้ำส้มที่ไม่เสียคุณค่าทางอาหาร คุณประโยชน์ และไม่มีสารเคมีเจือปนใด ๆ

โดยกลุ่มบริษัท ได้ทำการก่อตั้งโรงงานผลิตน้ำผลไม้มาตรฐาน GMP ขึ้นบนเนื้อที่กว่า 10 ไร่ ในพื้นที่ของกลุ่มบริษัท เพื่อทำการแปรรูปส้มและผลไม้ขึ้น ในนาม Yushi F&B โดยนำความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการโรงงานที่กลุ่มบริษัท มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ทางด้านระบบอัตโนมัติและกึ่งอัตโนมัติ มาสร้างระบบและเครื่องจักร  สำหรับสนับสนุนและรองรับการผลิต โดยมีกำลังการผลิตในขั้นเริ่มต้น (2017) ประมาณ 10,000 – 15,000 ขวดต่อวัน

โดยใช้เจ้าหน้าที่เพียงแค่ไม่กี่คน โดยแบ่งเป็นผู้ชำนาญการทางด้านเครื่องจักร ฝ่ายผลิตและฝ่ายควบคุมคุณภาพ และมีส่วนของนักพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร Food science and technology ในการควบคุมคุณภาพของน้ำส้มสดอยู่ตลอดเวลา  เนื่องจากน้ำส้มสด 100% จำเป็นต้องควบคุมองค์ประกอบมากมาย  ทั้งจากภายนอกและภายใน เพราะเป็นสินค้าที่มีอายุสั้น (Shelf life) ต้องควบคุมสัดส่วนการผสมและการปรุงรสน้ำส้ม (มีการผสมส้มถึง 3 สายพันธุ์) โดยการควบคุมสัดส่วนอย่างเที่ยงตรงและแม่นยำ

สินค้าต้องได้รับการควบคุมอุณหภูมิและมีกระบวนการห้องปลอดเชื้อ อย่างเข้มงวด รวมถึงเรื่องของความสะอาดและกรรมวิธีการผลิตบางอย่างที่ต้องมีการควบคุมกระบวนการ (Process) เป็นอย่างสูง เพื่อป้องกันการเจือปน ของสิ่งแปลกปลอม รวมไปถึงการเก็บตัวอย่างในแต่ละรอบการผลิต เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับและพัฒนาข้อมูลได้

ไม่มีการเจือปนใด ๆ และการเติมแต่งสารอันตราย อย่างเช่น สารกันบูด กรด เกลือ หรือไวตามิน แต่น้ำส้มสดของเราสามารถอยู่ได้มากกว่า 10 วัน ซึ่งน้ำส้มคั้นสดในตลาดทั่วไปไม่สามารถทำได้ (น้ำส้มคั้นสดทั่วไปจะอยู่ได้ประมาณ 3-5 วัน) ซึ่งเป็น Know How ของเรา ที่ทำให้น้ำส้มสด 100%

" Shinsen by Yushi " สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าจากส้มธรรมดาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้รับมาตรฐานการรับรองผลิตภัณฑ์จากองค์การอาหารและยา (อย.) เป็นเครื่องการันตีคุณภาพ กลางน้ำของเรา พร้อมเดินไปกับเกษตรกรแล้ว ……

ส่วนสุดท้ายซึ่งเป็นส่วนสำคัญและเป็นหัวใจ ที่เกษตรกรทั่วไปหรือแม้แต่ผู้ประกอบการหลายรายไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง  นั่นก็คือปัญหาเรื่องการหาตลาด ความรู้ในการขายสินค้าและสถานที่จัดจำหน่ายหรือ " ปลายน้ำ " นั่นเอง ซึ่งการบริหารการจัดการส่วนนี้ เป็นส่วนที่ต้องใช้ทักษะและกระบวนการคิดที่ซับซ้อนมากมายในเรื่องของการตลาด การวางตำแหน่งสินค้า และเงินทุนในการบริหารจัดการงานขาย และอื่น ๆ

โดยกลุ่มบริษัทยูชิ  ได้ดำเนินการตามแผนธุรกิจที่ได้วางไว้  ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นโดยนำเทคโนโลยีทางการสื่อสารทั้ง ออนไลน์ (Online) และ ออฟไลน์ (Offline) เข้ามาประยุกต์ใช้ โดยในด้าน ออนไลน์ (Online) เน้นในของเรื่องการสร้างการรับรู้ (Awareness Branding) โดยผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ของทางบริษัท โดยการกำหนดกลุ่มเป้าหมายชัดเจน อาทิ อาชีพ ช่วงอายุ พฤติกรรมการบริโภค กำลังซื้อ ฯลฯ และสามารถส่งมอบสินค้าไปยังผู้บริโภคโดยตรงผ่านช่องทางดังกล่าว (B2C) ตามหลักการของอุตสาหกรรมขั้นที่ 6 (SixthOrder Industry) ในด้านการเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง

ส่วนทางด้าน ออฟไลน์ (Offline)  นั้น กลุ่มบริษัทยูชิ  มีเครือข่ายลูกค้าในห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ อันเป็นผลพวงจากการดำเนินงานทางด้านอุตสาหกรรมพัดลม ,ระบบระบายอากาศและชิ้นส่วนอุตสาหกรรมมาอย่างยาวนาน ทำให้มีฐานลูกค้า ,คอนเน็คชั่น และช่องทางการขายสินค้าที่เกี่ยวข้องมากมายที่เป็นประโยชน์และเอื้อต่อการทำธุรกิจ ทำให้การกระจายสินค้าใหม่ลงไปในตลาดกลุ่มเดิม (Increase Product and Services) เป็นเรื่องที่ถูกวางตำแหน่งไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ ขั้นตอนดังกล่าวสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว และสามารถวางสินค้า " Shinsen by Yushi " ไว้ในตลาดห้างสรรพสินค้า ,ร้านสะดวกซื้อ ,ร้านอาหารและร้านค้าทั่วไป (B2B) และในระยะเวลาไม่นาน ก็สามารถสร้างยอดการสั่งซื้อได้อย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นทุกปี หลังจากนั้นก็เกิดผลิตภัณฑ์อาหารที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เกิดขึ้นตามมาอีก อาทิ น้ำตะไคร้ใบเตย , น้ำสับปะรดสด , น้ำสตรอเบอร์รี่ เป็นต้น

ทำให้ห่วงโซ่ (Chain) ในการทำธุรกิจของกลุ่มบริษัทยูชิ เป็นไปอย่างแข็งแกร่ง ด้วยการวิธีการบริหารจัดการ "ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ” ที่ทำให้ทั้งเกษตรกร ผู้แปรรูป และชุมชนมีอัตราการเติบโตของรายได้เพิ่มมากขึ้นกว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยว  เพื่อขายผลิตภัณฑ์เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง และมีผลพวงถึงการสร้างงานในส่วนของระบบโรงงานและระบบขนส่งอีกด้วย

อีกหนึ่งเป้าหมาย กลุ่มบริษัทยูชิ มีแนวคิดสำคัญในการสร้าง Agri – Business ในประเทศไทยร่วมกับชุมชนและเกษตรกร รวมทั้งการพัฒนาที่ดินเพื่อเพิ่มมูลค่า เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรฐานรากและนักลงทุนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยการสร้างธุรกิจคู่ขนานกับการทำธุรกิจน้ำผลไม้สดในประเทศไทย

ด้วยองค์ความรู้และสายสัมพันธ์ที่มีกับองค์กรและบริษัทเทคโนโลยีทางด้านการเกษตรชั้นนำในประเทศญี่ปุ่น  จึงเกิดอีกหนึ่งโครงการขึ้น  โดยกลุ่มบริษัทยูชิ  ได้ร่วมลงทุนและวิจัยการทำเกษตรสมัยใหม่กับนักวิจัยและทีมงานของญี่ปุ่น โดยการปลูกพืชในโรงเรือน หรือ เกษตร 4.0 สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทย

เหล่านี้เป็นภาพในอนาคตที่ กลุ่มบริษัท คณะผู้บริหารทุกระดับมีความตั้งใจที่จะพัฒนาภาค " เกษตรกรรม " ในประเทศไทยอย่างแท้จริง  และยังมีอีกหลายงานวิจัยที่กลุ่มบริษัทยูชิ มุ่งมั่นและทำอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งในการค้นคว้าและวิจัยสินค้านวัตกรรมต่าง ๆ โดยฝีมือของคนไทยออกไปยังตลาดโลก (Global Market) ให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ คำว่า Made in Thailand ในอนาคตต้องก้าวไปเป็นสินค้าที่นำประเทศไทยสู่ความเป็นอารยะ

เราไม่อาจทอดทิ้งอาชีพที่บรรพบุรุษของเราสร้างขึ้นมา ให้ลำบากตรากตรำโดยไร้หนทางในการมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้นได้ เรามีความแน่วแน่ที่จะทำสิ่งนั้นให้เกิดขึ้นจริงในอนาคตหลังจากนี้ และ Motto นี้จะอยู่ในใจเราเสมอ